พระราชบัญญัติสหกรณ์

สารบัญ

หมวด ๘
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
มาตรา ๑๐๘ ให้มี "สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย" ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักร ให้มีความเจริญก้าวหน้าอันมิใช่เป็นการหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน
มาตรา ๑๐๙ ให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และจะตั้งสำนักงานสาขาขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้
มาตรา ๑๑๐ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๐๘ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ส่งเสริมและเผยแพร่กิจการสหกรณ์ ตลอดจนทำการวิจัยและรวบรวมสถิติเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์
(๒) แนะนำช่วยเหลือทางวิชาการแก่สหกรณ์ และอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานระหว่างสหกรณ์กับส่วนราชการหรือบุคคลอื่น
(๓) ให้การศึกษาฝึกอบรมวิชาการเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(๔) ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างสหกรณ์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หรือสันนิบาตสหกรณ์ของต่างประเทศ หรือองค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน
(๕) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง หรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ
(๖) ส่งเสริมธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม หรือบริการของสหกรณ์
(๗) สนับสนุนและช่วยเหลือสหกรณ์เพื่อแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
(๘) เป็นตัวแทนของสหกรณ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการสนับสนุนของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือภาคเอกชนอื่น
(๙) ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บรรดาสหกรณ์อย่างแท้จริง
(๑๐) ดำเนินการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมอบหมาย
มาตรา ๑๑๑ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
(๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(๓) ดอกผลที่เกิดจากทุนกลางของสหกรณ์ไม่จำกัดตามมาตรา ๘
(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) เงินหรือทรัพย์สินที่เหลือจากการชำระบัญชีสหกรณ์ตามมาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๖ วรรคสอง
(๖) เงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือวิชาการ เอกสาร หรือสิ่งอื่น
(๗) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนในการให้บริการ
(๘) ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
มาตรา ๑๑๒ ให้มีคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ประธาน ดำเนินการชุมนุม สหกรณ์ระดับประเทศประเภทละหนึ่งคน ในกรณีที่สหกรณ์ประเภทใดไม่มีชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ ให้มีผู้แทนสหกรณ์ประเภทนั้นจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นซึ่งที่ประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเลือกตั้ง จากผู้แทนของสหกรณ์ซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการ มีจำนวนเท่ากับกรรมการโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเลือกตั้งกรรมการ เป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง และรองประธานกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน
ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยแต่งตั้งผู้อำนวยการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และให้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนสหกรณ์ที่ไม่มีชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ ให้เป็นไปตามระเบียบของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
การกำหนดสัดส่วนผู้แทนสหกรณ์ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการอื่นให้เป็นไปตามระเบียบในมาตรา ๑๑๓ (๓)
ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๕๒ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยอนุโลม
มาตรา ๑๑๓ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย มีหน้าที่บริหารกิจการ ตลอดจนมีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ของสันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย
การออกระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยก่อน จึงใช้บังคับได้
(๑) ระเบียบว่าด้วยการใช้จ่ายและการเก็บรักษาเงิน
(๒) ระเบียบว่าด้วยการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหลักเกณฑ์การจัดส่งผู้แทนของสหกรณ์เข้าร่วมประชุมใหญ่
(๓) ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง การประชุม และการดำเนินกิจการของคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
มาตรา ๑๑๔ ให้กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
เมื่อครบวาระดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจน กว่ากรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๑๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๑๔ กรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๖) พ้นจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์
ภาย ใต้บังคับตามวรรคหนึ่ง กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งพ้น จากตำแหน่งเมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่ น้อยกว่าสองในสามของจำนวนผู้แทนสหกรณ์ซึ่งมาประชุม
เมื่อ มีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ถือว่าคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยประกอบด้วย กรรมการเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่มีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสองในสาม
ในกรณีที่กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเลือกตัวแทนของสหกรณ์ เป็นกรรมการแทน เว้นแต่วาระของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ และให้ผู้ได้รับเลือกแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๑๖ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจัดให้มีการประชุมใหญ่ สามัญปีละหนึ่งครั้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสันนิบาต สหกรณ์แห่งประเทศไทย
เมื่อมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อใดก็ได้ หรือเมื่อสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดทำหนังสือ ร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยให้เรียกประชุม ใหญ่วิสามัญ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยไม่เรียกประชุม ใหญ่วิสามัญตามวรรคสาม สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดอาจทำหนังสือร้องขอ ภายในหกสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสาม เพื่อให้รัฐมนตรีเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ ในกรณีเช่นนี้ให้รัฐมนตรีเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับหนังสือร้องขอ
มาตรา ๑๑๗ ให้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยมีหน้าที่บริหารกิจการของ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามระเบียบและนโยบายที่คณะกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
ในส่วนกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนสันนิบาตสหกรณ์แห่ง ประเทศไทย เพื่อการนี้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจะมอบอำนาจให้บุคคลใด กระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทยกำหนดก็ได้
มาตรา ๑๑๗/๑ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ให้ประธานดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย หรือกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน สามของกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย หรือสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยสหกรณ์ ร้องขอให้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติวินิจฉัยได้
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติให้เป็นที่สุด
มาตรา ๑๑๘ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการสอบบัญชีมาใช้บังคับแก่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยโดยอนุโลม