สรุป....สาระสำคัญ/ประเด็นการแก้ไข ของพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับแก้ไขปี 2562 เทียบกับฉบับก่อน
พระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับใหม่ ปี 2562 (รวมฉบับที่ 1 พ.ศ. ๒๕๔๒ ฉบับที่ 2 พ.ศ. ๒๕๕๓ และฉบับที่ 3 พ.ศ. ๒๕๖๒) มีบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญ และประเด็นที่มีการแก้ไข ดังนี้
1.
ประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒
2. มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นคือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
3. บทนิยามคำว่า “สหกรณ์” เพิ่มข้อกำหนดคุณสมบัติสมาชิกต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
4. การได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาตินั้นกำหนด ให้กรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งคัดเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเงิน การตลาด การเกษตร กฎหมาย หรือดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง
5. กำหนดกรอบการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ คือ ให้มีการประชุมคณะกรรมการไม่น้อยกว่าปีละสี่ครั้ง
6. เพิ่มบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ คือ ให้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาบุคลากรสหกรณ์ คณะอนุกรรมการการลงทุน และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอื่นตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อพิจารณาหรือกระทำการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมอบหมาย
7. ปรับปรุงในรายละเอียดของบทบาท และอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์ เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ในด้านระบบบัญชี การตรวจสอบกิจการ การดำเนินการเมื่อสหกรณ์มีข้อบกพร่องอันเกิดจากการปฏิบัติงานของคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์หรือผู้เกี่ยวข้อง
8. ยกเลิกมาตรา ๒๖ เดิม มีผลทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการถูกลงโทษที่ทำให้สหกรณ์มีข้อบกพร่อง ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติได้
9. สามารถเพิ่มประเภทของสหกรณ์ได้(ประเภทที่ ๘) จากเดิมที่มี ๗ ประเภท คือ (๘) สหกรณ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
10 ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน ได้ยกเลิกสิทธิการอุทธรณ์ของคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์
11. ปรับปรุงข้อกำหนดของสมาชิกสมทบ คือ สมาชิกสมทบต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งบรรลุนิติภาวะ เว้นแต่สหกรณ์ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาอาจรับผู้ศึกษาในสถานศึกษานั้นซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เป็นสมาชิกสมทบได้ โดยที่ สมาชิกสมทบต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด และมิให้สมาชิกสมทบกู้ยืมเงินเกินกว่าเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองจากสหกรณ์
12. เปิดโอกาสให้สหกรณ์ออกระเบียบที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน คือ สามารถรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากนิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน (รับฝากจากนิติบุคคลผู้ก่อตั้งหรือต้นสังกัดของสมาชิกสหกรณ์)